ผมเชื่อว่าถึง พ.ศ. นี้ (2561) ทุกคนหาความรู้กันได้ด้วยปลายนิ้ว แถมรวดเร็วแบบ ลื่นปรี๊ด ลื่นปรื๊ด กันซะด้วย ใครจะมาบอกให้ต้องทำอย่างโน้นต้องทำอย่างนี้ จะให้เชื่อกันง่ายๆ แบบสมัยก่อนผมว่ายากเต็มที แค่เอาเรื่องเมื่อสักวันสองวันก่อนมาบอกมาเล่า
ทุกคนก็แทบจะรู้กันหมดแล้วววว ก็แหม “มือถือ” มันยัดเยียดความรู้มาให้เพียบ ส่วนว่าจะชัวร์ก่อนแชร์หรือเปล่า เอาไว้ว่ากันทีหลัง เพราะการได้แชร์ก่อนคนอื่นในกลุ่มถือว่า-แน่- สมัยนี้เราจึงเจอคนแบบ-รู้มาว่า- ไม่ค่อยจะได้เจอคนแบบ -รู้จริงๆ- คนส่วนใหญ่จึง
“คิดว่า” มากกว่า “เคยทำ”
อย่างเช่นเรื่องของ น้องแมว
อยากที่จะขายของออนไลน์
เพราะเค้าว่ากันว่าเด็ก Gen ใหม่
ต้องเป็นนายของตัวเอง
จะได้ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์
น้องแมวจึงศึกษาหาความรู้
ผ่านโรงเรียน Google
มีคุณครูชื่อ Blogger
เป็นผู้ให้คำชี้แนะมากมาย
ได้ข้อมูลการขายออนไลน์มาเยอะแยะ
ข้อมูลซึ่งสรุปในท้ายสุดกับน้องแมวว่า
“ทำไม่ได้”
เพราะคนอื่นทำมาก่อนหมดแล้ว
น้องแมวมาช้าเกินไป
อุตสาห์หาความรู้ไว้มากมาย…แต่
“ไม่ได้ทำ”
———
รับรองได้ว่า อเมซอน ไอโฟน อาลีบาบาหรือแม้แต่อูเบอร์ คงไม่ได้ใช้โมเดลแบบน้องแมวแน่ๆ คนสำเร็จส่วนใหญ่เมื่อฝันเสร็จ ตื่นมาก็คิดต่อแล้วก็รีบ”ลงมือทำ” สตีฟ จ๊อบก็ทำอย่างนี้แถมยังพลาดมาเยอะซะด้วย แต่ที่พี่แกได้มาแน่ๆ คือ รู้จริงๆ ว่ามันทำกันยังไง แล้วก็ต่อยอดจากที่ทำพัง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่
เหมือนผมเมื่อสมัยก่อนก็เคยคิดว่า งานแรงงานสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานนั้นไม่ยาก สุดท้ายก็พลาดไม่เป็นท่าครับ รถยางรั่วแถมแก้มยากฉีกพร้อมกันทีละสองล้อ หลังคารถก็โดนน้ำยาลอกสี โอ๊ย…โดนจัดเต็มมาอีกเยอะ แต่ก็เป็นอย่างที่บอกไว้ เมื่อได้ทำ ก็ได้รู้จริง ได้รู้ว่าอารมณ์ของคนอยู่เหนือเหตุผลมั่กๆ ความรู้ที่ได้จากการลงไปทำในครั้งนั้นก็คือ
จะเปลี่ยนความคิด ต้องใช้เวลา
จะเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องทำซ้ำๆ
เปลี่ยนความคิดคน ต้องอดทนครับ