เมื่อปีที่แล้ว ขณะผมอยู่ในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลแรงงานสมุทรปราการ ก็ได้รับฟังคำวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายแรงงาน ซึ่งลูกจ้างฟ้องขอค่าชดเชยกรณีที่บริษัท “ย้ายสำนักงาน” หรือย้ายที่ทำงานไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ ซึ่งลูกจ้างไม่สามารถที่จะเดินทางไปยังที่ทำงานที่ใหม่ได้ จึงขอบอกเลิกสัญญาจ้างกับบริษัทหรือขอลาออกนั้นเอง พร้อมกับเรียกขอรับเงินค่าชดเชยพิเศษ
เงินค่าชดเชยพิเศษ คืออะไร?
เงินค่าชดเชยพิเศษตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 120 นั้นก็คือเงินค่าชดเชยนั้นเอง ต่างกันตรงที่ปกติเงินค่าชดเชยจะจ่ายเพราะนายจ้างเลิกจ้าง แต่ในกรณีนี้ลูกจ้างขอบอกเลิกสัญญาจ้างหรือขอลาออกเพราะเหตุที่ไม่สามารถย้ายที่ทำงานไปแห่งใหม่ได้แทน มันจึงเป็นค่าชดเชยพิเศษ
ซึ่งเงินค่าชดเชยพิเศษนี้ เดิมกำหนดจ่ายเพียง 50% ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยปกติ แต่ตาม พรบ.แรงงาน ฉบับปี 2551 นี้ กำหนดให้จ่ายเช่นเดียวกันกับค่าชดเชยปกติ คือจ่ายในอัตราเดียวกัน และมีพิเศษอีกนิดหนึ่งคือ หากบริษัทแจ้งย้ายที่ทำงานใหม่ให้่พนักงานทราบไม่ถึง 30 วัน บริษัทต้องจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ด้วยอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างสุดท้าย ที่พนักงานได้รับ เป็นจำนวน 30 วัน เพิ่มให้ลูกจ้างอีกก้อนหนึ่งด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนั้น ท่านผู้พิพากษา มีประเด็นพิเศษสอบถามพนักงานหรือลูกจ้างผู้ฟ้องขอค่าชดเชยพิเศษนี้
พนักงานเช่าบ้านพักบริษัทสี่แยกบางนา การที่บริษัทย้ายที่ทำงานจากเดิมบนถนนเทพารักษ์ กิโลเมตรที่ 8 ไปยังที่ใหม่บนถนนบางนาตราด กิโลเมตรที่ 22 พร้อมทั้งยังคงมีสวัสดิการรถรับส่งพนักงานเช่นเดิมให้บริการ เหตุใดจึงไปทำงานกับบริษัทไม่ได้ ท่านผู้พิพากษาท่านสงสัย? พร้อมแนะนำต่อพนักงานหรือลูกจ้างว่า การย้ายที่ทำงานของนายจ้างก็ยังคงอยู่ในจังหวัดเดิม การเดินทางห่างจากเดิมไม่มากอยู่บนถนนที่ลูกจ้างเดินทางสะดวก ใช้เวลาต่างจากเดิมไม่น่าจะมากไปกว่า 30 นาที และนายจ้างก็มีรถรับส่ง ท่านว่าควรอยู่ทำงานต่อไป อยู่กันมากับนายจ้างก็นานแล้ว งานมันหายากนะ ท่านว่าการได้เงินค่าชดเชยเพียง 6 เดือนมันไม่น่าจะคุ้มกับค่าครองชีพสมัยนี้ กลับไปทำงานต่อดีกว่าไหม?
ผมไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยสุดท้ายเป็นอย่างไร ผมจำได้แต่คำถามของท่านผู้พิพากษามาจนวันนี้
กฎหมายแรงงงาน มีไว้คุ้มครองลูกจ้างน่ะครับ