มีคำถามจากน้อง ๆ เป็นผู้จบการศึกษาใหม่และเพิ่งทำงานเป็นที่แรก ก่อนเริ่มงานได้เซ็นต์สัญญาจ้างกับบริษัท ซึ่งบริษัทกำหนดให้น้องเป็น พนักงานทดลองงาน โดยในสัญญามีระยะเวลาทดลองงาน หรือที่ผมชอบเรียกว่าช่วงฮันนีมูน โดยมีข้อมูลดังนี้
ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญากัน โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ “นายจ้าง” ได้ตกลงว่าจ้าง และ “ลูกจ้าง” ตกลงรับจ้างโดยการเข้าเป็นพนักงานทดลองงานประเภทรายเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ ระดับ 8 ฝ่ายบัญชีและการเงิน โดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานเป็นเวลา 119 วัน (หนึ่งร้อยสิบเก้าวัน) ในระหว่างทดลองงาน “ลูกจ้าง” ตกลงยินดีให้เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงเหตุผล และไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย
คำถามสำคัญของน้องพนักงานใหม่คือ
1. พนักงานทดลองงาน มีความหมายต่างจากพนักงานอื่นอย่างไร?
2. ถ้าไม่ผ่านทดลองงาน จะไม่ได้อะไรเลยใช่หรือไม่?
คำตอบข้อแรก
พนักงานทดลองงานและพนักงานที่ผ่านทดลองงานแล้ว (ซึ่งส่วนมากจะเรียกว่าพนักงานบรรจุบ้าง พนักงานประจำบ้าง หรืออื่นๆ) มีความแตกต่างกันที่ “สวัสดิการและผลตอบแทน” ในส่วนที่บริษัทมีมากกว่าที่ กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เช่นค่ารักษาพยาบาล เบี้ยขยัน โบนัส เป็นต้น ถ้ายังไม่ผ่านทดลองงานก็จะยังไม่ได้รับสวัสดิการหรือผลตอบแทนเหล่านั้น
คำตอบข้อที่สอง
หากไม่ผ่านทดลองงานในช่วงเวลาไม่เกิน 120 วันก็จะไม่ได้เงินค่าชดเชย แต่ยังได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าบริษัทไม่แจ้งเลิกจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ (ต้องแจ้งก่อนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง) สัญญาตามตัวอย่างที่บริษัทจัดทำไว้ว่า “ลูกจ้างยินดีให้เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงเหตุผล” นั้นถือว่าขัดกับกฎหมายแรงงานเหตุผลคือ ข้อตกลงที่นายจ้างเลิกลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสองเป็นโมฆะ [คำพิพากษาฎีกาที่ 5429/2545] ดังนั้นหากบริษัทบอกเลิกจ้างวันนี้แล้วพรุ่งนี้ไม่ต้องมา เราต้องได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครับ
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างได้ โดยถือว่าเป็นธรรมถ้าพนักงานทดลองงานผลการทำงานไม่ดี ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4216/2528
กฎหมายแรงงาน คุ้มครองลูกจ้างครับ